เด็ก

พัฒนาการเด็กทารก 1 เดือน วิธีดูแลและกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกน้อย

เวลาผ่านไปแป๊ปเดียว ก็ครบรอบ 1 เดือนแล้วนะคะ ที่คุณพ่อคุณแม่ได้ก้าวสู่ช่วงเวลาการเปลี่ยนครั้งใหญ่ของครอบครัว ที่มีเจ้าตัวเล็กเพิ่มมาเป็นสมาชิกช่วยเติมเต็มให้ครอบครัวสมบูรณ์แบบมากขึ้น แม้การกินและนอนคือกิจกรรมหลักของลูกวัย 1 เดือน แต่ช่วงวัยนี้ ลูกกลับต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดมากเป็นพิเศษ เพราะลูกน้อยยังไม่คุ้นชินกับโลกภายนอก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลใจไปนะคะ เรามีวิธีกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 1 เดือน มาแนะนำกัน

เด็ก

พัฒนาการเด็กทารก 1 เดือน ด้านร่างกาย

ข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้บอกไว้ว่า พัฒนาการเด็ก 1 เดือน เด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักตัวและส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 3.5 – 4.5 กิโลกรัม ส่วนสูง 50 – 56 เซนติเมตร เด็กผู้หญิงจะมีน้ำหนักตัวและส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 3.5 – 4.5 กิโลกรัม ส่วนสูง 50 – 56 เซนติเมตร พัฒนาการในช่วงวัย1เดือน ลูกจะสามารถเคลื่อนไหวศีรษะพลิกไปมา และเมื่อจับนอนคว่ำ ลูกก็จะสามารถยกศีรษะ และหันไปทางใดทางหนึ่งได้ สามารถใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กในการเคลื่อนไหวแขน และขา รวมไปถึงสามารถมองหน้า สบตา มองตามสิ่งของได้

พัฒนาการเด็กทารก 1 เดือน ด้านสติปัญญา

แม้กิจกรรมหลักของทารกแรกเกิดจะมีเพียงการกิน นอน และขับถ่าย แต่คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมว่า เจ้าตัวน้อยเรียนรู้สิ่งรอบตัวตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้วนะ อย่างในช่วงนี้ทารก 1 เดือน จะมีอาการสะดุ้งหรือเคลื่อนไหวร่างกายเมื่อได้ยินเสียงพูดในระดับปกติ ขยับศีรษะเมื่อมีคนลูบแก้ม กำนิ้วมือเมื่อมีสิ่งของวางบนฝ่ามือ สามารถจำกลิ่นบางอย่างได้ สามารถมองจ้องหน้าคุณพ่อคุณแม่ได้นาน 1-2 วินาที สามารถจ้องมองวัตถุที่ห่างจากใบหน้าตนเองได้ประมาณ 8 นิ้ว การตอบสนองเหล่านี้นับว่าเป็นการเรียนรู้ในช่วงแรกของชีวิต และเพื่อให้ลูกน้อยมีพัฒนาการเด็กแรกเกิดด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกนอนหลับเพียงพอ เนื่องจากการนอนที่เพียงพอ สำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองของทารกแรกเกิด การนอนหลับไม่เพียงพอจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูกได้

พัฒนาการเด็กทารก 1 เดือน ด้านอารมณ์ และจิตใจ

ลูกจะมีการขยับตัวเมื่อได้ยินเสียง ยิ้มและร้องไห้เพื่อสื่อสารถึงความต้องการ ข้อมูลจากบทความพัฒนาการของเด็กแรกเกิด จนถึง 6 เดือน โดยโรงพยาบาลพญาไทศรีราชา ได้ระบุไว้ว่า โดยธรรมชาติของมนุษย์ เราจะมีบุคลิกเฉพาะเป็นของตัวเองตั้งแต่เป็นเด็กทารกเลยล่ะค่ะ เด็กบางคนขี้แย บางคนรักความสงบ บางคนก็ชอบเล่น รักสนุก ชอบอยู่กับคนเยอะๆ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูจึงรับบทบาทเป็นผู้สรรสร้างพื้นฐานทางด้านอารมณ์ของเด็กคนหนึ่ง อยากให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในแบบไหน และมีความสัมพันธ์กับสังคมแวดล้อมอย่างไร ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่นะคะ ฉะนั้นในช่วงไม่กี่เดือนแรกของชีวิตลูกคุณพ่อคุณแม่จึงควรมอบสัมผัสที่อ่อนโยน กอด หอม มองตา และปลอบโยน ถ่ายทอดความรัก ความสนใจ และความสุขอย่างเต็มเปี่ยมไปยังลูกน้อย เพราะนี่คือช่วงเวลาที่เขาจะซึมซับหรือสัมผัสได้ถึงความรักที่อบอุ่น ความปลอดภัย ความไว้เนื้อเชื่อใจ หมั่นพูดคุยกับเจ้าตัวเล็กด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน พูดจาหยอกล้อเรียกความสนใจ หากใช้น้ำเสียงสั้นๆ ห้วนๆ คงไม่มีใครอยากฟังใช่ไหมคะ เช่นกันกับเด็กเล็กๆ ที่ชอบคำพูดคำจาหวานๆ ยิ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ขยันชมเชย ‘เก่งจังค่ะ’ ‘ดีมากครับ’ ลูกรักก็จะยิ่งสัมผัสได้ว่าตัวเองเป็นคนสำคัญของครอบครัว ยิ่งถ้าเขาร้องไห้หรือเรียกหายิ่งต้องรีบเข้าไปปลอบโยน เพื่อไม่ให้เขารู้สึกว่าโดนละเลย

พัฒนาการเด็กทารก 1 เดือน ด้านโภชนาการ

แนะนำให้ทารกวัยแรกเกิดได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว เพราะนมแม่ถือเป็นอาหารที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับลูก มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต พัฒนาสมอง จอประสาทตา ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่ง ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว นมแม่ในระยะ 1-7 วันแรก จะมียอดน้ำนมที่เรียกว่า หัวน้ำนม หรือโคลอสตรัม ถือเป็นยอดอาหารที่อุดมไปด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ครบถ้วน ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันสูงสุด เปรียบเสมือนได้รับวัคซีนหยดแรกของชีวิต เพื่อป้องกัน เชื้อโรคต่าง ๆ เพราะเด็กแรกเกิดจะยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองได้ ทารกที่ได้ดื่มนมแม่จึงมีภูมิต้านทานในการต่อต้านเชื้อโรค และช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ลดภาวะเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ หอบหืด หูอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าทารกที่กินนมแม่ มีการพัฒนาความสามารถทางสมองดีกว่าทารกที่ไม่กินนมแม่อีกด้วย

คู่มือสำหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้แนะนำไว้ว่า ลูกในช่วงวัย 1 เดือน แนะนำให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารครบถ้วน ย่อยง่าย และถูกสร้างมาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของทารกที่มีระบบการย่อยและดูดซึมอาหารยังพัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งสารอาหารสำคัญที่พบในนมแม่ที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการหลักๆ ของวัยนี้ ได้แก่ ดีเอชเอ (DHA), เออาร์เอ (ARA) โอเมก้า3 ธาตุเหล็ก มีแคลเซียม และฟอสฟอรัส มีจุลินทรีย์สุขภาพในสัดส่วนที่เหมาะสม และวิตามินอื่นๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งช่วยห้ลูกมีพัฒนาการที่แข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดีสมวัย แต่ในกรณีแม่บางท่านที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เช่น ในกรณีที่คุณแม่มีน้ำนมน้อย หรือไม่สะดวกเอาลูกเข้าเต้าทุกมื้อ คุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอถึงวิธีการเพื่อเพิ่มน้ำนมแม่ กรณีที่คุณหมอแนะนำการใช้นมผงควบคู่กับนมแม่ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับช่วงวัยของลูกน้อย และชงให้ถูกสัดส่วน ซึ่งมีระบุที่ข้างบรรจุภัณฑ์

Related Post